อาณาจักรพนมใน ค.ศ. ๓๕๗ จนถึงการรุกรานของเจนฬา ของ ประวัติศาสตร์ยุคแรกของกัมพูชา

ฟานซียุนได้เสวยราชย์ถึง ค.ศ. ๒๘๙ จากนั้นจนถึงกลางศตวรรษที่ ๔ ไม่มีเอกสารใด ๆ กล่าวถึงอาณาจักรพนมอีกเลย พงศาวดารราชวงศ์ซีนและเหลียงได้กล่าวว่า ค.ศ. ๓๕๙ กษัตริย์อาณาจักรพนมชื่อเทียนชูฉานตานได้ส่งส่วยเป็นช้างไปถวาย คำว่า “เทียนชู” เป็นชื่อที่จีนเรียกประเทศอินเดีย ดังนั้นคำว่า “เทียนชูฉานตาน” จึงหมายถึงอินเดียชื่อฉานตาน ซึ่ง S. Lévi ว่าฉานตานเป็นคำเรียกตามเสียงของคำว่า Chandan ที่เป็นฐานันดรนามของพวกฮินดู-ซิกข์ โดยเฉพาะของราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งได้ยกทัพเข้าตีอินเดียและปกครองแถบแม่น้ำคงคาไปจนถึงกรุงพาราณาสีเป็นอย่างน้อย ใน ค.ศ. ๓๕๗ อินเดียทางเหนือปกครองโดยราชวงศ์คุปตะ ภายใต้การนำของพระเจ้าสมุทรคุปต์ พวกซิกข์ผู้รุกรานจึงถูกจำกัดออกไป ทำให้พวกกุษาณะได้หนีมาถึงสุวรรณภูมิและอาณาจักรพนม ผู้ค้นคว้าเชื่อว่าเสด็จเทียนชูฉานตานนี้เองที่เป็นผู้นำศิลปะรูปปั้นที่สำคัญ ๆ มาเผยแพร่เช่นเสื้อของพระสุริยะ และมงกุฎพระวิษณุ การแสดงความเห็นนี้ก็โดยการอ้างถึงสิ่งที่ค้นพบที่รมณียฐานโอแก้ว และหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงการติดต่อระหว่างอาณาจักรพนมกับอิหร่าน เช่นรูปปั้นพิธีบวงสรวงพระอัคคี และก้อนเพชรรูปกษัตริย์ราชวงศ์ Sasanide เฉพาะรัชกาลของเทียนชูฉานตานนี้ เหตุการณ์ที่รู้แน่ชัดคือการส่งส่วยไปถวายพระเจ้ากรุงจีนใน ค.ศ. ๓๕๗ หลังจากนั้นไม่มีข้อมูลใดอีก มาเริ่มอีกครั้งเมื่อปลายศตวรรษที่ ๔

ช่วงกลางครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๕ มีการเผยแพร่อารยธรรมอินเดียมายังสุวรรณภูมิครั้งใหม่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พยายามค้นหาว่าเกิดจากอะไร ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการที่พระเจ้าสมุทรคุปต์ (ค.ศ. ๓๕๗-๓๗๕) ได้เข้าตีทางภาคใต้ของอินเดีย เป็นเหตุให้มีผู้คนอพยพหนีเข้ามายังสุวรรณภูมิ และ S. Lévi ได้กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ชาวซิกข์คนหนึ่งได้มาเสวยราชในอาณาจักรพนม ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการรับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียจากพวกกษัตริย์ พราหมณ์ และผู้มีความรู้ นับจากกลางศตวรรษที่ ๔ - ๕

บรรดาเสด็จที่เสวยราชย์ต่อจากเทียนชูฉานตาน มีเสด็จองค์หนึ่งชื่อเคียวเฉนยู (โกณฑัญญะ) เป็นพราหมณ์มีชาติกำเนิดในอินเดีย ได้รับบัญชาจากเสียงลึกลับให้ไปเสวยราชย์ที่อาณาจักรพนม สร้างความยินดีให้ตัวเองนัก เมื่อเดินทางไปถึงปานปานทางทิศใต้ ผู้คนในอาณาจักรพนมที่ได้ยินเรื่องราวต่างออกมาต้อนรับแล้วยกให้ขึ้นครองราชย์ เสด็จองค์นี้ได้ตรากฎหมายตามแบบอินเดีย และบรรดาเสด็จที่เสวยราชย์ต่อมามีเสด็จชื่อเฉลีโดปาเมา (ศรีอินทรวรมัน) ซึ่งได้ส่งสารและเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนหลายครั้ง คือเมื่อ ค.ศ. ๔๓๔ - ๔๓๕ และ ๔๓๘ เพื่อรักษาไมตรีกับจีน ใน ค.ศ. ๔๓๑ - ๔๓๒ ได้ทะเลาะกับพวกจามปาเพื่อแย่งชิงเขตตงกึงของประเทศจีน

พงศาวดารราชวงศ์ซีนใต้กล่าวว่า ประมาณ ๑๐ ปีหลังจาก ค.ศ. ๔๓๑ - ๔๓๒ เสด็จที่เสวยราชย์ในอาณาจักรพนมคือพระเจ้าชัยวรมัน (เบาเยปาเมา) เป็นเสด็จในราชวงศ์โกณฑัญญะ ซึ่ง P. pelliot ได้กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันได้ส่งพวกพ่อค้าไปยังกวางตุ้ง ขากลับประสบกับพายุพัดไปขึ้นฝั่งที่ประเทศลินยีพร้อมกับพระภิกษุอินเดียชื่อนาคเสน พระภิกษุรูปนี้ได้นำทางกลับมายังอาณาจักรพนมด้วยเส้นทางลัด ภายหลังได้ถูกส่งไปกรุงจีนอีกครั้งเพื่อขอทัพมาช่วยรบกับมนตรี (บ้างว่าบุตร) ที่ออกจากประเทศไปจามปาเพื่อคิดทำการแย่งราชสมบัติ จีนไม่ได้ส่งทัพมาตามคำขอ แต่เพื่อรับไมตรีไว้จึงส่งผ้าแพรสีแปลก ๆ มาให้ ในรัชกาลนี้มีพระภิกษุสองรูป คือ สงฆบาลและมนตรเสน ได้ถูกส่งไปยังจีนเพื่อช่วยแปลคัมภีร์ต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๕๐๓ พระองค์ทรงให้นำพระพุทธรูปและวัตถุต่าง ๆ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย